การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรม ประจำปี ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อ ?วิถีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย? (the 1st National and the 11th International Conference on Arts and Cultural Practices)

เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ร่วมกับ สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรม ประจำปี ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อ “วิถีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” (the 1st National and the 11th International Conference on Arts and Culture: Contemporary Arts and Cultural Practices) ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ณ อาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม (พุทธวิชชาลัย) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม และสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยร่วมกับ เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย โดยครั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานได้รับเกียรติ จากศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ต่องานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม” นอกจากกิจกรรมการปาฐกถาแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “วิถีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย” โดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และมี รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวรายงาน ประกอบกับผู้เข้าร่วมงานทุกท่านได้มีโอกาสเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากนิทรรศการของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพร่วมทั้งเพลิดเพลินกับการบรรเลงดนตรีไทย และกิจกรรมสาธิตการทำขนมไทย การแกะสลัก และการร้อยมาลัยดอกไม้สด เป็นต้น สำหรับในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมด้านวิชาการจะมีการนำเสนอผลงานวิจัย งานวิจัยสร้างสรรค์ หรือบทความวิชาการทั้งในรูปแบบการบรรยาย แบบปากเปล่า และการนำเสนอแบบโปสเตอร์ของนักศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา รวมทั้งคณาจารย์และนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สำหรับการนำเสนอนั้นมีทั้งในรูปแบบออนไลน์และการนำเสนอในห้องประชุมกลุ่มย่อย นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหาร SEAMEO บรรยายพิเศษหัวข้อ SEA Teacher Academic Mobility Programme และได้รับเกียรติจาก Dr. Patcharawee Tunprawat, Head of Arts and Creative Industries, British Council Thailand ในหัวข้อ British Council and the Development of Thailand’s Creative Economy

กิจกรรมในงานประกอบด้วยการนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งในระดับชาติและ จำนวน ๑๐๖ บทความ เวทีแลกเปลี่ยนการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมจาก ๑๔ สถาบัน การจัดประกวดระบำดาวดึงส์ การจัดนิทรรศการเพื่อแสดงวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การสาธิตภูมิปัญญาของท้องถิ่น การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมด้วยแนวคิดใหม่ๆ (new concepts) ของแต่ละสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและสังคมได้ตระหนักว่างานศิลปวัฒนธรรมเป็นศิลปะที่พัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถมีรายได้ไม่ต่างจากคนที่มีงานประจำซึ่งถือเป็นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศสู่ความมั่นคงและยั่งยืนสืบไป สำหรับวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ เป็นกิจกรรมมอบธงเครือข่ายฯ ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งจะรับเป็นเจ้าภาพในปีต่อไป จากนั้นยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เป็นเจ้าภาพร่วมอีกด้วย

ชมภาพกิจกรรม วันแรก 

ชมภาพกิจกรรม วันที่สอง

ชมภาพบรรยากาศการนำเสนอผลงานทางวิชาการ