โครงการบ่มเพาะนักศึกษาให้มีคุณลักษณะตามหลักวิศวกรสังคม
เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จัดโครงการบ่มเพาะนักศึกษาให้มีคุณลักษณะตามหลักวิศวกรสังคม เมื่อวันพุธที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสมันตเนตร ชั้น 8 อาคาร 4 (อาคารเรียนและอำนวยการ)มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์เปรื่อง กิจรัตน์ภร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นประธานในพิธีเปิด และมี รองศาสตราจารย์ประกาศิต โสไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการในครั้งนี้
กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ 6 "การถอดบทเรียน" (Lesson Learned) ภายใต้โครงการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาเชิงพื้นที่ของนักศึกษาด้วยกระบวนการวิศวกรสังคมฯ นับเป็นระยะเวลา 9 เดือน โดยตลอดทุกกิจกรรมที่ผ่านมา นักศึกษาได้นำกระบวนการทางวิศวกรสังคม (Soft Skills) ด้วยทักษะ 4 ประการ ได้แก่ 1) เป็นนักคิด 2) นักสื่อสาร 3) นักประสาน และ 4) นักสร้างนวัตกรรม ที่ได้จากการอบรมและการฝึกปฏิบัติ (Training and Workshops) ไปใช้กับสนามการทำงานจริง ในการลงพื้นที่และปฏิบัติภารกิจจริงกับชุมชนและท้องถิ่น นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่การสำรวจปัญหา ค้นหาแนวทาง และทดลองแก้ไขปัญหา โดยการบูรณาการศาสตร์ที่หลากหลายของแต่ละคณะ สาขาวิชา จนสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม
กิจกรรมการถอดบทเรียนในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของการจัดการความรู้ ที่เน้นเสริมสร้างการเรียนรู้ในกลุ่มอย่างเป็นระบบ ในการสรุปและสกัดองค์ความรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติจริงของนักศึกษา (Tacit Knowledge) จากการเข้าร่วมกิจกรรมการลงพื้นที่ในแต่ละชุมชน/ท้องถิ่น โดยนักศึกษา มีโอกาสได้นำหลักการและทักษะทางวิศกรสังคม (Soft Skills) เข้ามาใช้ มีการบูรณาการในหลายศาสตร์วิชา เพื่อการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่นเป้าหมาย ให้สามารถออกมาเป็นบทเรียนหรือเป็นความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เพื่อที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการ ซึ่งได้แก่ นักศึกษา และ คณาจารย์ ณ ที่นี้ อันจะนำมาซึ่งการสรุปผลออกมาเป็นองค์ความรู้ วิธีการและแนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาส่วนต่าง ๆ ของโครงการ เพื่อให้ผลลัพธ์การจัดกิจกรรมต่อ ๆ ไปมีความสร้างสรรค์และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาและคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ทั้ง 5 คณะ โดยจัดขึ้นในรูปแบบผสมผสาน (Blended Learning) ทั้งรูปแบบ On-site และ Online และได้รับเกียรติจากคณาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีจำนวน 3 ท่าน ได้แก่
1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ หล้าพันธ์ สังกัด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์โสรยา งามสนิท สังกัด คณะวิทยาการจัดการ
3) อาจารย์ธนิดา ศุภรังสรรค์ สังกัด คณะวิทยาการจัดการ
มาเป็นวิทยากรอภิปรายร่วมกัน ในกิจกรรมการถอดบทเรียน จากทั้งอาจารย์และนักศึกษา ในครั้งนี้